TOP
  • 2541-2545

    ก่อนการก่อตั้ง

    แนวคิดในการจัดตั้งธนาคารอิสลามได้ริเริ่มขึ้นจากความต้องการของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวมุสลิมที่ดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม โดยในปี พ.ศ. 2541 รัฐบาลจึงผลักดันให้ธนาคารอิสลามเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการสำหรับชาวไทยมุสลิมให้มีช่องทางทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม แต่ด้วยความตั้งใจของรัฐบาลที่จะให้ธนาคารอิสลามถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นเอกเทศและถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดเตรียมพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาผ่านออกมาเป็นกฎหมายและสำเร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545

  • 2545-2547

    ก่อตั้งเป็นธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

    “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)” จัดตั้งตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เริ่มเปิดดำเนินกิจการครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 โดยมีสำนักงานใหญ่และสาขาแห่งแรกอยู่ที่คลองตัน จากนั้นก็เริ่มทยอยเปิดสาขาในกรุงเทพฯ พื้นที่ภาคใต้ จนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ. 2547 มีสาขารวมทั้งสิ้น 9 สาขา

  • 2548-2549

    การควบรวมกิจการ กับกรุงไทย

    การดำเนินธุรกิจของไอแบงก์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และต่อมาได้ดำเนินการตามนโยบายการควบรวมธุรกิจของกระทรวงการคลัง โดยการซื้อกิจการบริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้มีพิธีลงนามสัญญาโอนกิจการบริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ของธนาคารกรุงไทย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 ส่งผลให้ไอแบงก์มีสาขาเพิ่มขึ้นอีก 18 สาขา เป็น 27 สาขา และเพื่อรองรับปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ จึงได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากคลองตัน มาที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ ณ อาคารคิวเฮ้าส์ อโศก ในเดือนสิงหาคม 2549

  • 2550

    เป็นรัฐวิสาหกิจ ปี 2550

    จากความมุ่งหวังของชาวไทยมุสลิมในระยะแรกของการดำเนินการของไอแบงก์ ที่มุ่งเน้น ลูกค้าเป้าหมายชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าในพื้นที่ภาคใต้ แต่ยังตระหนักเสมอ ว่าบริการตามแนวทางอิสลามสามารถสนองต่อความต้องการของประชาชนทั่วไปได้โดยไม่จำกัดให้อยู่เพียงในระบบธนาคารกระแสหลัก ซึ่งอิงกับระบบดอกเบี้ย ไอแบงก์จึงมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ปรับปรุงภาพลักษณ์ ให้ทันสมัย และให้บริการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า ภายใต้หลักคุณธรรมที่ใส่ใจ ห่วงใยทุกกลุ่มสังคม ยึดมั่นในหลักศาสนาอิสลาม เคร่งครัดในสัญญาที่ตกลง และบริหารงานด้วยความโปร่งใส ด้วยเหตุนี้ไอแบงก์จึงเป็นธนาคารที่แตกต่างและทางเลือกใหม่ให้กับทุกคน ไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา และในเดือนตุลาคม 2550 กระทรวงการคลังได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ไอแบงก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงการคลังนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

  • 2565

    ปัจจุบัน

    ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นที่สัดส่วน 99.59% ภายหลังจากที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ซึ่งถือเป็นพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เพื่อกำหนดให้กระทรวงการคลังสามารถถือหุ้นได้เกินร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดเป็นการชั่วคราว และไอแบงก์มีเครือข่ายรวม 93 สาขา ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ